สื่อต่างประเทศหลักๆ
ลงข่าวใหญ่เรื่องการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
และถ่ายทอดพระราชประวัติของพระองค์ในฐานะกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก
สำนักข่าวต่างชาติเช่น Reuters, Associated Press, Bloomberg และหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่อย่าง New York Times และ The
Wall Street Journal ต่างกล่าวถึงพระองค์ว่าทรงเป็นอำนาจที่ยึดเหนี่ยวประเทศให้เป็นปึกแผ่น
และผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ มาได้หลายครั้ง
The Wall Street Journal สัมภาษณ์ Tareck
Horchani รองหัวหน้าฝ่ายค้าหลักทรัพย์ของ Saxo Capital
Markets ในประเทศสิงคโปร์
เขากล่าวว่า
“สิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวประเทศไทยเอาไว้คือพระมหากษัตริย์”
The Wall Street Journal รายงานว่า ตลอดระยะเวลา 70
ปีภายใต้การครองราชย์ ประเทศไทยผ่านพ้นเหตุการณ์ต่างๆ เช่น
ช่วงสงครามเย็น ความวุ่นวายในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชาและเวียดนาม
รวมถึงความปั่นป่วนภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงการก่อรัฐประหารหลายครั้ง
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้บอกว่า
ไทยเป็นประเทศไม่กี่ประเทศที่สถาบันกษัตริย์มีอิทธิพลต่อประชาชนอย่างแท้จริง
และไทยก็แตกต่างจากประเทศที่มีกษัตริย์ขนาดเล็กอื่นๆ เช่น บรูไนและภูฏาน
ตรงที่ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ และมีบทบาทใหญ่ทางเศรษฐกิจในตลาดโลก
New York Times สื่อหลักของสหรัฐฯ อีกแห่งหนึ่ง
กล่าวว่าในช่วงที่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์
ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบที่มีการเกษตรนำ มาสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่
ทั้งด้านอุตสาหกรรม การพาณิชย์ และการมีฐานชนชั้นกลางที่ใหญ่ขึ้น
New York Times กล่าวว่า
แม้บทบาทของพระองค์อาจดูน้อยลงในช่วงที่มีพระพลานามัยไม่แข็งแรง
ซึ่งเวลานั้นมีการประท้วงที่รุนแรงและรัฐประหาร แต่ก่อนหน้านี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ทรงเป็นประมุขของประเทศในระยะเวลาที่การปกครองและกระบวนการตามระบบประชาธิปไตยเติบโตอย่างกว้างขวาง
New York Times บอกว่าหลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่
9 ของไทย สมเด็จพระราชินี Elizabeth ของอังกฤษ
จะทรงเป็นประมุขของราชวงศ์ซึ่งยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่และครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก
ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้สมเด็จพระราชินีอังกฤษทรงครองราชย์มายาวนานกว่า 64 ปี
สำนักข่าว
Associated Press ของสหรัฐฯ รายงานว่า
ในหลวงของไทยมีพระราชจริยวัตรที่ประชาชนเข้าถึงง่าย โดยใช้คำว่า “down-to-earth”
หรือ ติดดิน
ผู้สื่อข่าวของ AP เขียนว่า แม้ผู้นำทหาร นายกรัฐมนตรี
และข้าราชบริพารในราชสำนักไทยต้องคลานเข่าเมื่อเข้าหาพระองค์ท่าน
แต่สำหรับประชาชนและชาวบ้าน พระองค์ทรงไม่ถือพระองค์อย่างน่าทึ่ง
และทรงเป็นทั้งผู้แก้ปัญหาปากท้อง ไปจนถึงเรื่องในครอบครัวของพสกนิกร
ที่พระองค์ทรงพบระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปตามถิ่นทุรกันดาร
ในรายงานของ Bloomberg กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ
ว่ารัฐบาลอเมริกันถวายการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1960 หรือ 56 ปีก่อน ที่ประธานาธิบดี Dwight D.
Eisenhower เป็นผู้นำสหรัฐฯ
ในครั้งนั้น
พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินในขบวนพาเหรดที่นครนิวยอร์ก
ซึ่งมีกระดาษริบบิ้นชิ้นเล็กโปรยปรายตลอดทาง
สหรัฐฯ ยังได้กราบบังคมทูลให้พระองค์ตรัสต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา
และอีก 7
ปีต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยือนสหรัฐฯ
ครั้งสุดท้าย ในปีนั้นประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson ถวายการต้อนรับที่ทำเนียบขาว
และเมื่อประธานาธิบดี Richard Nixon ขึ้นมาบริหารประเทศ
เขาเดินทางเยือนไทยในปี ค.ศ. 1969 และได้รับเกียรติเป็นพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ตามรายงานของ Bloomberg
สำนักข่าวสหรัฐฯ
แห่งนี้รายงานว่า ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร LEADERS ว่าประธานรัฐสภาอาจมากราบบังคลทูลขอคำปรึกษาจากกษัตริย์
แต่กษัตริย์อาจมีอำนาจมากกว่านั้น หากว่าสามารถสร้างศรัทธาในหมู่ประชาชนได้
อ้างอิง http://www.voathai.com